ภูมิหลัง ของ 30 บาทรักษาทุกโรค

ก่อนที่จะมีโครงการสามสิบบาท ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วม 4 ระบบ อันได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ, ระบบประกันสังคม, ระบบประกันสุขภาพโดยสมัครใจ (โครงการบัตรสุขภาพ เสียเงินรายเดือนหรือรายปี) และโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) หรือ บัตรอนาถา ซึ่งเมื่อรวมกับระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน (ประกันชีวิต) แล้ว เท่ากับว่าไทยมีระบบประกันสุขภาพจำนวน 5 ระบบ ทั้งห้าระบบนี้สามารถครอบคลุมประชากรประมาณร้อยละ 70 ของประเทศ จะเห็นได้ว่า ยังมีประชากรอีกกว่า 20 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของประเทศที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ นี่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้มีการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลและหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่ตกหล่น

จุดเริ่มต้นมาจาก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชวน หลีกภัย ในขณะนั้นกลับไม่เห็นความสำคัญมากนัก ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ตกไป[2]

ภายหลังกฎหมายถูกตีตกไป นายแพทย์สงวนก็ยังทำการวิจัยความเป็นไปได้ต่อไป นายแพทย์สงวนพิมพ์สมุดปกเหลืองขึ้นมาเล่มหนึ่ง สรุปความถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งหลักการความเป็นมาและโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการ[2] ซึ่งจะใช้งบประมาณแค่ราว 30,000 ล้านบาทในขณะนั้น นายแพทย์สงงวนใช้หนังสือปกเหลืองเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ตาม ในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด มีเพียงพรรคไทยรักไทยที่มองว่ามีความเป็นไปได้[2] รัฐบาลพรรคไทยรักไทยนำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" และแต่งตั้งนายแพทย์สงวนเป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก